วันเสาร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555

วันมหิดล


วันมหิดล
24  กันยายนของทุกปี

            วันที่ 24 กันยายน เป็นวันคล้ายวันทิวงคต(เสียชีวิต)ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (กรมหลวงสงขลานครินทร์) พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์แประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย"

          ด้วยพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทยมาตลอดระยะเวลา 12 ปีนั้น ได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ อีกทั้งได้ทรงพัฒนาการเรียนการสอน ตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศในกาลต่อมา

          คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงได้ขนานนามวันสำคัญนี้ว่า "วันมหิดล" เพื่อเป็นการถวายสักการะ และน้อมรำลึกต่อพระองค์ท่าน

          และในปี พ.ศ. 2493 หรือ 21 ปี หลังจากที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้ทิวงคต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บรรดาศิษย์เก่าศิริราช ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ร่วมใจกันสร้างพระราชาอนุสาวรีย์ขึ้น ณ ใจกลางโรงพยาบาลศิริราช เพื่อน้อมเกล้าถวายความกตัญญูกตเวที และเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณให้ไพศาล เป็นแบบฉบับให้อนุชนรุ่นหลังได้เจริญตามรอยพระยุคลบาทสืบไป โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ควบคุมงาน

          ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดพระราชอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493 และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เป็นต้นมา ทุกวันที่ 24 กันยายน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จัดงาน "วันมหิดล" โดยมีพิธีวางพวงมาลาถวายบังคมพระรูป พร้อมทั้งอ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เป็นประจำทุกปี

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันมหิดล

          1. เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ให้ปรากฏแก่ มวลสมาชิกทั่วโลก

          2. เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่อมเชิดชูเกียรติ

          ในการนี้รัฐบาลไทย โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมเพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติแ ละได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ 100 ปี วันพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535

ประวัติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

          สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2434 และสวรรคตเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 รวมพระชนมายุ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน

          ในเบื้องต้นได้ทรงศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมัน จากนั้นเสด็จกลับเข้ามารับราชการในกองทัพเรือ ต่อมา ทรงมีอาการประชวรเรื้อรังไม่ทรงสามารถรับราชการหนักเช่นการทหารเรือได้ ประกอบกับทรงสนพระทัยในกิจการทางด้านการแพทย์ จึงทรงพระอุตสาหะ เสด็จไปศึกษาวิชาการสาธารณสุขและวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงสอบได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุข และปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

          ภายหลังทรงสำเร็จการศึกษา พระองค์ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขไว้อย่างมากมาย อาทิ
1. ทรงเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์
 2. ทรงช่วยเหลือในการขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช
3. ประทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ และจัดสร้างตึกคนไข้ และจัดหาที่พักสำหรับพยาบาลให้ได้อยู่อาศัย
          4. ทรงบริจาคทรัพย์เป็นทุนสำหรับส่งนักศึกษาแพทย์ และนักเรียนพยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศ
          5. ประทานเงินเพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องมือ สำหรับปฏิบัติการให้แก่โรงพยาบาล
          6. ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลติดต่อกับมูลนิธิรอคกีเฟลเลอร์ สาขาเอเซียบูรพา ในการปรับปรุง และวางมาตรฐานการศึกษา
          7. ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยพระองค์เอง
ธงวันมหิดล 






การจัดกิจกรรมในวันมหิดล



          หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น  อาทิ

          1. กิจกรรมรับบริจาคสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2503 เป็นต้นมา คณะนักศึกษาแพทย์และพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดกิจกรรมออกรับบริจาคสมทบทุนศิริราชมูลนิธิเนื่องในวันมหิดล ในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน ของทุกปี

          โดยกิจกรรมหนึ่งในการขอรับบริจาค คือ การจำหน่าย "ธงวันมหิดล" กิจกรรมดังกล่าว เริ่มมีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 ศ.นพ.กษาณ จาติกวนิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ได้เสนอให้ศิริราชมีการจำหน่าย "ธงวันมหิดล" เพื่อให้ประชาชนทุกฐานะมีส่วนเกื้อกูลผู้ป่วยยากไร้ของโรงพยาบาลศิริราช
          ในปีแรกมีการจำหน่ายธงขนาดกลางราคา 10 บาท และธงเล็กทำด้วยริบบิ้น ราคา 1 บาท นักศึกษาทุกหมู่เหล่าในวิทยาเขตศิริราช ได้ช่วยกันออกไปจำหน่าย ซึ่งรายได้ทั้งหมดนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ การรักษาพยาบาล และเครื่องอำนวยความสุขแก่ผู้ป่วยยากไร้
          โดยในครั้งแรกแบบธงวันมหิดลเป็นรูปสามเหลี่ยม มีรูปพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบรมราชชนก พิมพ์อยู่ตรงกลางผืนเช่นเดียวกับในปัจจุบัน แต่พิมพ์เป็นรูปสีเขียวบนผ้าขาว ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ใช้ผ้าสีที่ตรงกับวันมหิดลในปีนั้น และทำสติ๊กเกอร์ขึ้นแทนธงริบบิ้น ต่อมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ก่อตั้งศิริราชมูลนิธิขึ้นเพื่อบริหารจัดการด้านการเงินให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น คณะฯ จึงมอบให้ศิริราชมูลนิธิ รับผิดชอบการจำหน่ายธงวันมหิดล
          ใน พ.ศ.2502 การจำหน่ายธงได้ผลดีเกินคาด ธงไม่พอสำหรับวันขายใหญ่ "กลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล" ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาจากทุกคณะ และทุกวิทยาเขตจึงอาสาทำธงให้ โดยระดมทำอยู่ 2 วัน 2 คืน จนมีธงพอจำหน่ายในวันที่ 23 กันยายน ในปีนั้น                         
          ปีต่อมาคณะกรรมการจำหน่ายธงวันมหิดล จึงมีมติให้จ้างกลุ่มอาสาฯ ทำธงแทนจ้างบริษัทเอกชน เพราะเล็งเห็นว่านักศึกษาทำได้ดีเทียบเท่ามืออาชีพ และยังเป็นการสนับสนุนการทำกิจกรรมของนักศึกษา นอกจากนี้ผลกำไรทางกลุ่มอาสาฯ ยังนำไปสร้าง โรงเรียนในชนบททุกปี เรียกว่าได้บุญ 1 ต่อ

          สำหรับสีของธงในแต่ละปีจะตรงกับวันมหิดลในปีนั้นๆ เช่น ปีนี้วันมหิดลตรงกับวันพุธ ธงจึงเป็นสีเขียว และเมื่อบริจาคเงินสมทบทุนศิริราชมูลนิธิ จะมีสติกเกอร์วันมหิดล มอบเป็นของที่ระลึก
          2. การจัดนิทรรศการ เช่น พระราชประวัติ และผลงานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
          3. การจัดสัมมนาทางวิชาการ เช่น การแพทย์ใหม่ในประเทศไทย
          4. การอภิปรายตามแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับการแพทย์ไทย
          5. การประกวด หรือการแข่งขันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การประกวดโรงพยาบาลดีเด่น
          6. อื่น ๆ เช่น การมอบรางวัลให้กับแพทย์ พยาบาล ดีเด่น และผู้เสียสละเพื่อชาวชนบท เพื่อสังคม


วันเยาวชนแห่งชาติ


วันเยาวชนแห่งชาติ
20 กันยายน ของทุกปี
ประวัติความเป็นมา
        วันเยาวชนแห่งชาติได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2528 เป็นปีเยาวชนสากล ดังนั้น เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติกำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพใน

         พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468
และพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ได้ขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์
        นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมให้เยาวชนที่กระจายกันทั่วประเทศ ได้ตระหนักว่าเยาวชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาชาติให้มีความมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง โดยเริ่มจากการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีค่านิยมที่ถูกต้อง ภูมิใจและหวงแหนและอนุรักษ์ไว้ซึ่งความเป็นไทย อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย รู้จักการอดออมและประหยัดรวมทั้งการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

        นอกจากหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้เยาวชนของชาติเป็นทรัพยากรบุคคลมีคุณภาพ และสถาบันทีมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในการพัฒนา คือ สถาบันครอบครัว ซึ่งหากผู้ปกครองมีความเข้าใจ เอาใจใส่ ดูแล ทนุถนอม ให้ความรักความอบอุ่นแก่เยาวชนที่อยู่ในความปกครองอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะมีส่วนเป็นอย่างมากในการที่จะนำพาเยาวชนให้เป็นบุคคลที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม ซึ่งจะพาประเทศชาติให้เจริญรุงเรืองต่อไปในภายภาคหน้า

        เป้าหมายของวันสำคัญมี 3 ประการ คือ
        1. เพื่อให้เยาวชนช่วงอายุ 15 - 25 ปี ได้ตระหนักนึกความสำคัญในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศ
        2. เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อประเทศชาติทั้งในด้านคุณภาพคุณธรรม
        3. เพื่อให้นโยบายส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สัมฤทธิ์ผล

        กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเยาวชนแห่งชาติ
        1. จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ความสำคัญ หน้าที่ ของเยาวชนเพื่อให้เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ตระหนักและเข้าใจ
        2. ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมสาธารณประโยชน์กิจการเพื่อการกุศล กิจกรรมในชุมชน ฯลฯ


วันโอโซนสากล


                                                      วันโอโซนสากล
                                                  16  กันยายนของทุกปี





รู้จักโอโซน

          โอโซน (OZONE) เกิดจากธรรมชาติ เป็นก๊าซสีน้ำเงินที่พบเป็นจำนวนมากในชั้นบรรยากาศของโลก มีหน้าที่สำคัญ คือ เป็นเกราะช่วยป้องกัน กรองรังสีต่างๆ จากดวงอาทิตย์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ไม่ให้เข้าสู่โลกของเรา โดยเฉพาะรังสียูวีบี ทั้งนี้เพื่อให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และช่วยลดความร้อนสะสมในบรรยากาศอันเกิดจากรังสียูวี ทำให้ลดภาวะความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง โรคตาต้อกระจก และป้องกันระบบนิเวศวิทยามิให้เสียสมดุล

          ก๊าซโอโซนจะประกอบด้วยออกซิเจน 3 อะตอม มีสูตรเป็น O3 เกิดจากการรวมตัวของก๊าซออกซิเจน 1 โมเลกุล (O2) กับอะตอมออกซิเจนอิสระ (O) ซิ่งเกิดจากการแตกตัวของโมเลกุลออกซิเจนโดยการกระตุ้นของรังสียูวีซี อะตอมออกซิเจนอิสระ (O) จะไปจับตัวกับโมเลกุลออกซิเจน (O2) เกิดเป็นก๊าซโอโซน (O3) ขึ้นมา

          โอโซนในชั้นบรรยากาศ

          ก๊าซโอโซนมี 2 บทบาท คือเป็นทั้งพระเอกและผู้ร้ายในตัวเดียวกัน ขึ้นอยู่ว่ามันวางตัวอยู่ที่ใด

           โอโซนในชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere Ozone) เป็นเกราะป้องกันรังสีอุลตราไวโอเล็ต (UV) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ในธรรมชาติโอโซนที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวมีเพียง 10% โอโซนส่วนใหญ่ในชั้นสตราโตสเฟียร์รวมตัวเป็นชั้นบางๆ ที่ระยะสูงประมาณ 20 - 30 กิโลเมตร ทำหน้าที่กรองรังสีอุลตราไวโอเล็ตจากดวงอาทิตย์ออกไป 99% ก่อนถึงพื้นโลก หากร่างกายมนุษย์ได้รับรังสีนี้มากเกินไป จะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ส่วนจุลินทรีย์ขนาดเล็ก อย่างเช่น แบคทีเรียก็จะถูกฆ่าตาย

           โอโซนในชั้นโทรโพสเฟียร์ (Troposphere Ozone) เป็นก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และมีคุณสมบัติเป็นก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยดูดกลืนรังสีอินฟราเรด ทำให้เกิดพลังงานความร้อนสะสมบนพื้นผิวโลกประมาณ 2.85 วัตต์/ตารางเมตร โอโซนในชั้นนี้เกิดจากการเผาไหม้มวลชีวภาพและการสันดาปของเครื่องยนต์ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการจราจรติดขัด เครื่องยนต์ เครื่องจักร และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งปะปนอยู่ในหมอกควัน เมื่อโอโซนอยู่ในบรรยากาศชั้นล่างหรือเหนือพื้นผิว มันจะให้โทษมากกว่าให้คุณ เนื่องจากเป็นพิษต่อร่างกาย ดังนั้นคำพูดที่ว่า "ออกไปสูดโอโซนให้สบายปอด" จึงเป็นความเข้าใจผิด

          สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน




          สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน คือ สารเคมีที่มีองค์ประกอบพื้นฐานอย่าง คลอรีน ฟลูออรีน หรือ โบรมีน ซึ่งมีศักยภาพในการทำปฏิกิริยากับโมเลกุลโอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศให้เกิดการแตกตัว สารทำลายโอโซนที่เรารู้จักกันดีก็คือ สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ สารซีเอฟซี (CFCs) ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นในระบบปรับอากาศรถยนต์ ตู้เย็น ตู้แช่ เป็นต้น ส่วนสารทดแทนสารซีเอฟซี คือ สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ เอชซีเอฟซี (HCFCs) ใช้เป็นสารทำความเย็นในระบบปรับอากาศ และการผลิตโฟม ซึ่งยังคงเป็นสารทำลายโอโซนเช่นเดียวกัน แม้จะในปริมาณน้อยกว่าก็ตาม

          ส่วนสารทำลายโอโซนอื่นๆ ก็จะมีอย่างเช่น สารเฮลอน ใช้เป็นสารดับเพลิง, สารเมทิลคลอโรฟอร์ม ใช้ในการทำความสะอาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, สารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ ใช้เป็นสารทดสอบในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และสารเมทิลโบรไมด์ ที่ใช้ในการฆ่าแมลงกำจัดศัตรูพืช

          การลดลงของโอโซน

          นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบรูโหว่ขนาดใหญ่ ของชั้นโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์คติก บริเวณขั้วโลกใต้ เกิดขึ้นจากกระแสลมพัดคลอรีนเข้ามาสะสมในก้อนเมฆในชั้นสตราโตสเฟียร์ในช่วงฤดูหนาวราวเดือนพฤษภาคม - กันยายน (อนึ่งขั้วโลกเหนือไม่มีเมฆในชั้นสตราโตสเฟียร์ เนื่องจากอุณหภูมิไม่ต่ำพอที่จะทำให้เกิดการควบแน่นของไอน้ำในอากาศ) เมื่อถึงเดือนตุลาคม ซึ่งแสงอาทิตย์กระทบเข้ากับก้อนเมฆ ทำให้คลอรีนอะตอมอิสระแยกตัวออกและทำปฏิกิริยากับก๊าซโอโซน ทำให้เกิดรูโหว่ขนาดใหญ่ของชั้นโอโซน เรียกว่า "รูโอโซน" (Ozone hole)

          อย่างไรก็ตาม โอโซน ถือเป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิด รวมทั้งทำลาย กลิ่นสารเคมี และก๊าซพิษได้ดีเยี่ยม อีกทั้งไม่ทิ้งพิษตกค้าง เพราะเมื่อทำปฏิกิริยากับมลพิษเสร็จทุกครั้ง จะได้ออกซิเจน (O2) จึงเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี นอกจากนี้โอโซนยังสามารถแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้ โดยการนำโอโซนผสมกับน้ำ ทำให้แบคทีเรียในน้ำถูกโอโซนทำลาย เหลือแต่น้ำบริสุทธิ์มาทำน้ำดื่มได้

 ความเป็นมาของวันโอโซนโลก

          ในช่วง 20 – 30 ปีที่ผ่านมาได้มีการนำสารเคมีซีเอฟซี หรือคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC : chlorofluorocarbon) จำนวนมากมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็น (เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ) และอุตสาหกรรมการผลิตโฟม ทำให้มีซีเอฟซีระเหยขึ้นสู่บรรยากาศ และไปทำปฏิกิริยากับก๊าซโอโซน ทำให้ก๊าซโอโซนถูกทำลาย จนมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว

          นอกจากนี้ซีเอฟซียังสลายตัวได้ยาก จึงตกค้างในบรรยากาศได้ยาวนาน ทำให้ก๊าซโอโซนถูกทำลายได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย เมื่อก๊าซโอโซนลดน้อยลงก็จะทำให้รังสีอุลตราไวโอเลตเข้าสู่พื้นโลกได้มากจึงเป็นอันตรายต่อมนุษย์อย่างมาก โดยเฉพาะการเกิดโรคมะเร็งที่ผิวหนัง ดังนั้นการกำหนดให้มีวันโอโซนโลกขึ้น ก็เพื่อเป็นการพิทักษ์บรรยากาศชั้นโอโซน

          นานาประเทศได้ร่วมกันจัดทำอนุสัญญาการป้องกันชั้นบรรยากาศโอโซน ขึ้นในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) เรียกว่า "อนุสัญญาเวียนนา และพิธีสารว่าด้วยการเลิกใช้สารทำลายชั้นโอโซน" และจัดให้ลงนามใน "พิธีสารมอนทรีออล" ขึ้นในวันที่ 16 กันยายน ปี ค.ศ.1987 (พ.ศ. 2530) เป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาเวียนนาฯ ดังนั้นองค์การสหประชาชาติ จึงได้ประกาศให้วันที่ 16 กันยายน ของทุกปี เป็น วันโอโซนโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา

          สาระสำคัญของอนุสัญญาเวียนนานับว่า เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มุ่งมั่นในการพิทักษ์ชั้นโอโซน และเป็นเครื่องมือทางกฎหมายข้อแรก ที่กลายเป็นรูปแบบของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมให้สัตยาบันแล้วรวม 191 ประเทศ นั่นหมายถึง ชุมชนโลกส่วนใหญ่ ได้พร้อมใจกันที่จะพิทักษ์ชั้นโอโซน

          สำหรับประเทศไทยได้ร่วมลงนามในพิธีสารนี้ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2531 และให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 มีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2532

          ผลของพิธีสารในขั้นต้นสารเคมีที่ถูกควบคุม คือ สาร CFC (Chlorofluorocarbon) รวม 5 ชนิดและสารฮาลอน (Halon) 3 ชนิด รวมสารควบคุมทั้งสิ้น 8 ชนิด ซึ่งสารเหล่านี้ถูกใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น สารทำความเย็นในตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ใช้เป็นก๊าซสำหรับเป่าโฟม และเป็นฉนวนในโฟม รวมทั้งใช้เป็นตัวทำละลายในการทำความสะอาด ล้างคราบไขมันสิ่งสกปรกในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่สารที่อยู่ในกระป๋องสเปรย์  ส่วนสารฮาลอนใช้เป็นสารดับเพลิงในอุปกรณ์ป้องกัน และระงับอัคคีภัย  ซึ่งการใช้สาร CFC ก็มีมากในการอุตสาหกรรม นั่นคืออุตสาหกรรมยิ่งพัฒนา ก็จะมีการทำลายโอโซนกันมากเท่านั้น

 เป้าหมายของการกำหนดวันโอโซนโลก

           1. เพื่อกระตุ้นให้ประเทศปฏิบัติต่ออนุสัญญา ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

           2. เพื่อช่วยกันลดใช้สารซี เอฟ ซี และสารฮาลอน ซึ่งเป็นตัวทำลายบรรยากาศโอโซนในชั้นบรรยากาศ

 เราจะทำอะไรเพื่อช่วยโลกได้บ้าง


          แม้จะมีสนธิสัญญาเพื่อลดและเลิกการใช้สารซีเอฟซีแล้ว แต่สารซีเอฟซียังจำเป็นต่ออุตสาหกรรมบางชนิด จึงยังมีการใช้ซีเอฟซีกันอยู่อีกต่อไป ก๊าซโอโซนก็ยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบเป็นภาวะโลกร้อนอย่างที่มนุษย์เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ เราในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของโลก จะสามารถช่วยลดสาร CFC ได้โดย

           เลือกซื้อ และใช้เครื่องปรับอากาศที่มีสัญลักษณ์ Non CFCs

           หมั่นตรวจเช็กระบบแอร์รถยนต์ในอู่ที่ได้มาตรฐาน รวมหมั่นล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศบ้าน

           ตู้เย็นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกชนิดหนึ่งที่ปล่อยสาร CFC ที่จะออกมาทำลายชั้นโอโซนได้ ดังนั้นควรเปลี่ยนตู้เย็นที่ใช้มานานกว่า 10 ปี และไม่เปิดตู้เย็นบ่อย เพราะจะทำให้ระบบทำความเย็นทำงานหนัก

           เลิกใช้อุปกรณ์ที่เป็นลักษณะกระป๋องสเปรย์ รวมทั้งวัสดุที่ทำจากโฟมทั้งหลาย ซึ่งมีสาร CFC เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิต และวัสดุเหล่านี้ยังย่อยสลายได้ยากอีกด้วย 

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วันแม่แห่งชาติ


 12  สิงหาคม  
วันแม่แห่งชาติ





           ความเป็นมางานวันแม่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ.สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อมาจึงต้องงดไป เมื่อวิกฤติสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามให้มีวันแม่ขึ้นมาอีก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่รัฐบาลรับรอง คือวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515
แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติ และกำหนดให้ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ คือ ดอกมะลิ
 
ดอกมะลิ สัญลักษณ์ของวันแม่

             นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล (ภายหลังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พลเอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ)กับ หม่อมหลวงบัว กิติยากร เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ณ บ้านของพลเอกเจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์) และท้าววนิดาพิจาริณี บิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว กิติยากร ตั้งอยู่ที่ 1808 ถนนพระรามที่ 6 อำเภอปทุมวัน จ.พระนคร  ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "สิริกิติ์" มีความหมายว่า "ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร"

ตราประจำพระองค์
  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระภาดา (พี่ชาย) 2 องค์ และและพระขนิษฐภคินี (น้องสาว) 1 องค์ ดังนี้ หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร (ชาตะ พ.ศ. 2472) หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร (ชาตะ พ.ศ. 2473) และ หม่อมราชวงศ์หญิง บุษบา กิติยากร (ชาตะ พ.ศ. 2477)
ในระหว่างยังทรงพระเยาว์ สถานการณ์บ้านเมืองไม่สู้สงบนัก เนื่องจากเพิ่งพ้นจากช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไม่นาน หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องทรงออกจากราชการ รัฐบาลแต่งตั้งให้ไปรับตำแหน่งเลขานุการเอกประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ส่วนหม่อมหลวงบัวซึ่งมีครรภ์แก่ ได้เดินทางไปสมทบหลังจากให้กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์แล้ว โดยมอบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ให้อยู่ในความดูแลของบิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว ดังนั้นจึงต้องอยู่ไกลจากบิดามารดาตั้งแต่อายุน้อย บางคราวต้องเดินทางไปต่างจังหวัด เช่น พ.ศ. 2476 หม่อมเจ้าอัปสรสมาน กิติยากร พระมารดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ทรงรับนัดดาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปอยู่ที่จังหวัดสงขลา ปลายปี พ.ศ. 2477 หม่อมเจ้านักขัตรมงคลทรงลาออกจากราชการแล้วกลับมาประเทศไทย จึงทำให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 2 ปี 6 เดือน ได้กลับมาอยู่รวมพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว ณ ตำหนักบริเวณถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
การศึกษา
พ.ศ. 2479 เมื่อหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์มีอายุได้ 4 ขวบ ก็ได้เข้ารับการศึกษาครั้งแรกในชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ทว่าในขณะนั้น แม้เหตุการณ์ด้านการเมืองภายในประเทศไทยจะสงบลง แต่สถานการณ์ระหว่างประเทศก็ไม่สงบ กล่าวคือ สงครามมหาเอเชียบูรพาเริ่มแผ่ขยายมาถึงประเทศไทย กรุงเทพมหานครถูกโจมตีทางอากาศหลายครั้งจนการคมนาคมไม่สะดวก พระบิดาจึงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เพราะอยู่ใกล้วังพระบิดา ได้เรียนที่นั่นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จนจบชั้นมัธยมศึกษา หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้เรียนเปียโน ซึ่งเรียนได้ดีและเร็วเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสด้วย

พ.ศ. 2489 ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งรัฐทูตวิสามัญและอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้โดยได้ทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปอยู่ด้วย ในเวลานั้นหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ มีอายุได้ 13 ปีเศษ และเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว
ขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส และวิชาเปียโนกับครูพิเศษ หลังจากนั้นไม่นาน พระบิดาย้ายไปเดนมาร์กและฝรั่งเศส ตามลำดับ ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็ยังคงเรียนเปียโน และตั้งใจจะศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส

ระหว่างที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ได้มีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช (ขณะนั้นทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์) ซึ่งพระองค์เสด็จประพาสกรุงปารีส โดยทางรถยนต์จากสวิตเซอร์แลนด์ เพราะประสงค์จะเลือกซื้อรถยนต์พระที่นั่งแทนคันเดิม และยังได้รับชมการแสดงดนตรีของคณะที่มีชื่อเสียงด้วย ในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินมายังกรุงปารีส ก็ได้ประทับที่สถานทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกันกับนักเรียนไทยคนอื่นในสมัยนั้น ทั้งนี้เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดการดนตรีเป็นพิเศษ ขณะที่หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ก็สนใจศิลปะเช่นกัน ทำให้เกิดความความสัมพันธ์ขึ้น
ทรงหมั้น
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งโดยมีหม่อมหลวงบัวและหม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการเป็นประจำ และในช่วงระยะเวลาที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์อยู่เฝ้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระนามในเวลานั้น) ได้ทรงรับเป็นธุระจัดการให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เข้าศึกษาในโรงเรียน Pensionnat Riante Rive [ต้องการแหล่งอ้างอิง] ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งของโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหายจากอาการประชวรแล้ว ก็ได้ทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นการภายในเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492

หลังจากทรงหมั้นแล้ว หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ยังคงศึกษาต่อ กระทั่ง พ.ศ. 2493 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินนิวัตพระนครเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์ท่านโปรดฯ ให้หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ตามเสด็จพระราชดำเนินกลับมาด้วย

อภิเษกสมรส

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงสายสะพายนพรัตน์ราชวราภรณ์เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ณ วังสระปทุม และโปรดเกล้าฯ สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

หลังจากครองราชย์สมบัติอย่างกะทันหัน พระบาทสมเด็จพระหัวอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 และโปรดฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ กลับไปยังสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงรักษาพระองค์และทรงศึกษาต่อ แล้วเสด็จฯ กลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2495

พระราชโอรสธิดา
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชโอรส และพระราชธิดา 4 พระองค์ ดังนี้
1. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติ ณ สถานพยาบาลมองซัวซี นครโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 ต่อมาได้ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ (ปัจจุบัน ทรงพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริโสภาพรรณวดี) เพื่อสมรสกับนายปีเตอร์ เลด เจนเซ่น ชาวอเมริกัน ทรงมีพระโอรส 1 องค์ และพระธิดา 2 องค์
2. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักราดิศรสันตติวงศ์ เทเวศรธำรงสุรบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดชภูมิพลนเรศวรางกูร กิติสิริสมบูรณ์ สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 ต่อมา ทรงได้รับการสถาปนา ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฏราชกุมาร เมื่อ พ.ศ. 2515
3. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ต่อมาทรงได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอิสริยยศ เป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ พ.ศ. 2520
4. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 4 กรกฏาคม พ.ศ. 2500 ทรงอภิเษกสมรสกับ เรืออากาศโท (ยศในขณะนั้น) วีระยุทธ ดิษยะศริน ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เมื่อ พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน และระหว่างที่ผนวช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ปีเดียวกัน





















กลอน พระคุณแม่
พระคุณแม่เลิศล้ำเหนือกำหนด
นมทุกหยดของแม่มีความหมาย
แม่อุตส่าห์เลี้ยงดูทุ่มเทกาย
ส่งเสียให้ได้เรียนเพียรศึกษา
แม่เป็นหญิงที่ดีในใจลูก
แม่พันผูกปลูกฝังให้รักษา
ยามเจ็บทุกข์ได้ยากคอยป้อนยา
คอยสรรหาสิ่งดีดีให้ตัวเรา
ถึงเวลาที่ควรตอบแทนท่าน
เราต้องหมั่นเอาใจท่านให้หนักหนา
คำ คำนี้ลูกจำได้ตั้งแต่เกิดมา
สุดท้ายหนาคือคำว่า "แม่จ๋า" เอย
  •                ความหมายของคำว่า "แม่"
         คำว่า “แม่” พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า "แม่" ไว้ดังนี้
         แม่ หมายถึง หญิงในฐานะที่เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ลูก, คำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดตน
         ในทางพระพุทธศาสนา ได้ให้ความหมายของคำว่า "แม่" ซึ่งหมายถึง หญิงที่มีครอบครัวไว้หลายนัย เช่น
         1. แม่ บางทีเรียกว่า มารดา มารดร หมายถึง เป็นใหญ่ เช่น แม่ทัพ แม่น้ำ แม่กอง เป็นต้น อันแสดงถึงความยิ่งใหญ่ภายในกิจการนั้นๆ ในที่นี้มาใช้กับผู้ให้กำเนิดแก่ลูกและหาตัวแทนไม่ได้
            - หญิงในฐานะผู้ให้กำเนิดแก่ลูก และหาตัวแทนไม่ได้
            - คำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดตน
            - คนที่เป็นหัวหน้า หรือเป็นนาย โดยไม่จำกัดว่าเป็นชายหรือหญิง เช่น แม่ทัพ แม่กอง ฯลฯ
         รวมความแล้ว "แม่" คือ ผู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน โดยการรับผิดชอบนั้นมีขอบเขตภายในบ้านเรือน
         2. ชนนี หมายถึง ผู้ให้กำเนิดลูก, เป็นที่บังเกิดเกล้าของลูก
         3. ภรรยา หรือภริยา หมายถึง
            - เมีย หรือ หญิงผู้เป็นคู่ครองของชาย
            - ผู้เลี้ยง หรือผู้ดูแลสมาชิกของครอบครัว
         นักภาษาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า คำว่า "แม่" ของทุก ๆ ภาษา มาจากการออกเสียงของเด็ก โดยคำขึ้นต้นด้วยพยัญชนะริมฝีปากคู่ ได้แก่ ม , พ , ป ,บ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นพยัญชนะชุดแรกที่เด็กสามารถทำเสียงได้ โดยการใช้ริมฝีปากบนและล่าง ดังเช่น
    ภาษาจีน ม๊ะ หรือ ม่า
    ภาษาฝรั่งเศส la mere (ลา แมร์)
    ภาษาอังกฤษ mom , mam
    ภาษาโซ่ เม๋เปะ
    ภาษาไทใต้คง เม เป็นต้น 




























        อย่างไรก็ตาม ความหมายหลักของคำว่า แม่ ก็คงหนีไม่พ้นการเป็นผู้ให้ชีวิตหรือหญิงผู้ให้กำเนิดบุตร หญิงผู้ปกป้องคุ้มครองและดูแลรักษา สังคมไทยยังใช้คำว่าแม่ตามความหมายนี้เรียกสิ่งดีงามตามธรรมชาติอื่น ๆ เพื่อยกย่องเทอดทูนในฐานะผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงชีวิต เช่น แม่น้ำ แม่โพสพ แม่ธรณี เป็นต้น ความหมายของคำว่าแม่ในลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นชัดอย่างชัดเจนว่าสังคมไทยแต่โบราณมายกย่องและให้เกียรติสตรีเพศผู้เป็นแม่ ตระหนักในบทบาทหน้าที่และบุญคุณของแม่ต่อชีวิตของลูก ๆ ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย           ในบริบทของสังคมวัฒนธรรมไทย แม่ คือ ผู้เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อลูก ๆ คอยดูแลเอาใจใส่และประคบประหงมลูกจนเติบใหญ่ ความรักของแม่ถือว่าเป็นความรักที่บริสุทธิ์ สังคมไทยมักพูดถึงแม่ในฐานะของผู้ที่รักลูกยิ่งชีวิต พร้อมจะตกระกำลำบากเพื่อลูกของตนโดยไม่สำนึกเสียใจ นางจันทร์เทวีถูกขับออกจากเมือง ต้องระเหเร่ร่อนไร้ที่ซุกหัวนอนเพราะคลอดลูกเป็นหอยสังข์ แต่นางก็ยังรักและเฝ้าทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงโดยไม่เคยคิดรังเกียจเดียดฉันท์แม้แต่สัตว์อย่างนางนิลากาสร ก็ยังรักและหวงแหนลูกอย่างทรพี ปกป้องลูกของตนมิให้ถูกฆ่าดังเช่นลูกของตัวอื่น ๆ 

          แม้ว้าโดยทั่วไปแล้ว คำว่า "แม่" จะบ่งบอกความหมายของการเสียสละ ความรักและความผูกพันที่ผู้หญิงที่มีต่อลูกของตน แต่การที่สังคมไทยมีลักษณะวัฒนธรรมเฉพาะที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละชนชั้น ทำให้ความหมายของการเป็นแม่ ตลอดจนบรรทัดฐาน แบบแผน พฤติกรรมและบทบาทฐานะของผู้หญิงในวัฒนธรรมของแต่ละชนชั้นย่อมแตกต่างกันไป 

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันแม่แห่งชาติ 
ดอกมะลิ ดอกไม้สัญลักษณ์วันเเม่
1. ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ
2. ร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
3. การประดับไฟเฉลิมพระเกียรติ และประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน
4. จัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับวันแม่ เช่น การจัดนิทรรศการ การแสดง การประกวดต่างๆ เพื่อรำลึกถึงพระคุณของแม่
5. การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ทำบุญใส่บาตรอุทิศส่วนกุศล
6. นำพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่

 
ที่มา  http://www.lib.ru.ac.th/journal/aug/aug12-MatherThainationalDay.html

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วันเข้าพรรษา


วันเข้าพรรษา



วันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 กำหนดเป็น 2 ระยะ คือ ปุริมพรรษา และปัจฉิมพรรษา
1. ปุริมพรรษา คือ การเข้าพรรษา 3 เดือนแรกแห่งฤดูฝน ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ
เดือน 8 ในปีปกติและอธิกวาร .ส่วนในปีอธิกมาสจะตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 88 หรือราวเดือนกรกฎาคม และออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ราวเดือนตุลาคม
2. ปัจฉิมพรรษา คือ การอนุโลมเข้าพรรษาอีกอย่างหนึ่งตามพระวินัยสงฆ์ เมื่อ
พระสงฆ์มีเหตุจำพรรษาไม่ทัน เป็นต้น โดยนับเอา 3 เดือนสุดท้ายแห่งฤดูฝน เรียกว่าเข้าพรรษาหลัง คือ มีวันเข้าพรรษาวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 หรือราวเดือนสิงหาคมและจะออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ อันเป็นสิ้นสุดฤดูฝน หรือราวเดือนพฤศจิกายน. การจำพรรษาหลังนี้ ทางประเพณีไม่เป็นที่นิยม.


                         " เข้าพรรษา" แปลว่า "พักฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พร
ธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เว้นแต่มีกิจธุระเจ้เป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่ไม่เกิน 7 คืนเรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์ แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด ระหว่างเดินทางก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็พอจะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลายๆ องค์ ที่พักดังกล่าวนี้เรียกว่า "วิหาร" แปลว่าที่อยู่สงฆ์ เมื่อหมดแล้ว พระสงฆ์ท่านออกจาริกตามกิจของท่านครั้งถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีกเพราะสะดวกดี แต่บางท่านอยู่ประจำเลย บางทีเศรษฐีมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า "อาราม" ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้       โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระ ตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขารอันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าจำนำพรรษา หรือผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในเข้าพรรษานับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา การที่พระภิกษุสงฆ์ท่านโปรดสัตว์อยู่ประจำเป็นที่เช่นนี้ เป็นการดีสำหรับสาธุชนหลายประการ กล่าวคือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระพุทธบัญญัติก็นิยมบวชพระ ส่วนผู้ที่อายุยังไม่ครบบวชผู้ปกครองก็นำไปฝากพระ โดยบวชเป็นเณรบ้าง ถวายเป็นลูกศิษย์รับใช้ท่านบ้าง ท่านก็สั่งสอนธรรม และความรู้ให้ และโดยทั่วไป พุทธศาสนิกชนนิยมตักบาตรหรือไปทำบุญที่วัด นับว่าเป็นประโยชน์         การปฏิบัติตนในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณร ที่ตนเคารพนับถือ ที่สำคัญคือ มีประเพณีหล่อเทียนขนาดใหญ่เพื่อให้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์อยู่ได้ตลอด 3 เดือน มีการประกวดเทียนพรรษา โดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ ทำบุญรักษาศีลและชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ พอถึง วันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้น อบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับ อานิสงส์อย่างสูง
หลักธรรมที่ควรปฏิบัติ
          ระหว่าง เทศกาลเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนนิยมไปวัด ถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรมและเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่ว บำเพ็ญความดีและชำระจิตให้สะอาดแจ่มใสเคร่งครัดยิ่งขึ้น หลักธรรมสำคัญที่สนับสนุน คุณความดีดังกล่าวก็คือ วิรัติ
          คำ ว่า วิรัติหมายถึงการงดเว้นจากบาป และความชั่วต่าง ๆ จัดเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่ง เป็นเหตุนำบุคคลผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความสงบสุขปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรือง ยิ่งขึ้นไป
         วิรัติ การงดเว้นจากบาปนั้น จำแนกออกได้เป็น ๓ ประการ คือ
          ๑. สัมปัตตวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอาย (หิริ) และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาป(โอตตัปปะ) ขึ้นมาเอง เช่น บุคคลที่ได้สมาทานศีลไว้ เมื่อถูกเพื่อนคะยั้นคะยอให้ดื่มสุรา ก็ไม่ย่อมดื่มเพราะละอาย และเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรที่ชาวพุทธจะกระทำเช่นนั้นในระหว่างพรรษา
        ๒. สมาทานวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยการสมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ จากพระสงฆ์โดยเพียรระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง
       ๓. สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาดโดยตรงเป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้นสมุจเฉทวิรัติ อาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นบาปความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก เช่นกรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดระหว่างพรรษากาล แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป เป็นต้น

        ประเพณีสำคัญวันเข้าพรรษา

ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา




                  ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา เป็นประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษาซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระภิกษุจะต้องอยู่ประจำวัดตลอด ๓ เดือนมาตั้งแต่โบราณกาล การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้มีอยู่เป็นประจำทุกปี เพราะในระยะเข้าพรรษานี้ พระภิกษุจะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าเย็นและในการนี้จะต้องมีธูปเทียนจุดบูชาด้วย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันหล่อเทียนเข้าพรรษาสำหรับให้พระภิกษุจุดเป็นการกุศลทานอย่างหนึ่งเพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงฆ์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสวตามชนบท การหล่อเทียนเข้าพรรษาทำกันอย่างเอิกเกริกสนุกสนานมาก เมื่อหล่อเสร็จแล้ว ก็จะมีการแห่แหนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ แล้วนำไปบูชาพระตลอดระยะเวลา 3 เดือน บางแห่งก็มีการประกวดการตกแต่งมีการแห่แหนรอบเมืองด้วยริ้วขบวนที่สวยงามและถือว่าเป็นงานประจำปีทีเดียว ในวันนั้นจะมีการร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ เป็นการร่วมกุศลกันในหมู่บ้านนั้น

          ประเพณีตักบาตรดอกไม้


        เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ความชุ่มชื้น บนเชิงเขาสุวรรณบรรพต จรดเทือกเขาวงใกล้รอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นจุดเริ่มต้นความสวยงาม ของมวลหมู่พันธุ์ไม้ หลากสีสัน เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงวันเข้าพรรษาของทุกปี ดอกไม้ชนิดหนึ่ง จะบานสะพรั่งขาวนวลบริสุทธิ์ ท่ามกลางความเหลืองอร่ามปะปนสีม่วง แลดูสบายตาเหนือไหล่เขาสุวรรณบรรพตและเทือกเขาวง ชาวบ้าน เรียกดอกไม้ชนิดนี้ ว่า "ดอกเข้าพรรษา" ซึ่งเป็นสื่อกลางระหว่าง พุทธศาสนิกชนเพื่อส่งพุทธบูชา ศรัทธา แก่พระพุทธองค์ผ่านประเพณีตักบาตรดอกไม้ เนื่องในวันเข้าพรรษา ประเพณีตักบาตรดอกไม้ของชาวพุทธจะถือเอาวันเข้าพรรษาของทุกปี (ตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ) เป็นวันตักบาตรดอกไม้ พุทธศาสนิกชน ทุกเพศ ทุกวัย จากทั่วประเทศ เข้าร่วมงานประเพณี "ตักบาตรดอกไม้" ด้วยความศรัทธา และร่วมสืบสานอีกหนึ่งวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของคนไทย

        "ดอกเข้าพรรษา" เป็นดอกไม้ชนิดหนึ่ง ต้นคล้ายๆ ต้นกระชาย หรือ ขมิ้น สูงประมาณ 1 คืบเศา ส่วนสีสันของดอกไม้เข้าพรรษานี้ บางต้นก็ผลิดอกสีเหลือง บางต้นก็สีขาว และบางต้นก็สีน้ำเงินม่วง ซึ่งหาได้ยาก ถือกันว่าถ้าใครออกไปเก็บดอกไม้เข้าพรรษาสีม่วงมาใส่บาตรได้ คนนั้นจะได้รับบุญกุศลมามายกว่าการนำดอกไม้สีอื่นๆ มาใส่บาตร ต้นดอกไม้เข้าพรรษานี้จะขึ้นตาม ไหล่เขาโพธิ์ลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวงและ เขาพุใกล้ๆ กับพระพุทธบาทที่น่าแปลกอยู่อย่างหนึ่ง สำหรับต้นดอกไม้ชนิดนี้ก็คือการผลิดอก ถ้ามิใช่ฤดูกาลเริ่มเข้าพรรษา เช่น หน้าร้อน หน้าหนาว อย่างนี้ ต้นเข้าพรรษา จะไม่ผลิดอกออกมาให้เห็น จนชาวบ้านขนานนามให้เป็นที่เหมาะสม

                                  การปฏิบัติตนของพุทธศาสนิกชนในวันเข้าพรรษา


1. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา
2. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิกษุสามเณร
3. ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
4. อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ 

ที่มา

                 สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย . วันเข้าพรรษา . [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก   http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%B2  . (วันที่ค้นข้อมูล :13 สิงหาคม  2555 )